ข้อมูลสารสนเทศพัฒนาที่ดิน

ปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่องช่วยเพิ่มผลผลิตได้ยั่งยืนแน่นอน สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรปราการ

หมอดินใหญ่แนะ ปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่องช่วยเพิ่มผลผลิตได้ยั่งยืนแน่นอน

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักทางด้านวิชาการที่มีความเชียวชาญในการสำรวจดินและการพัฒนาที่ดินที่ดิน ซึ่งมีสถานีพัฒนาที่ดินกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านต่าง ๆ กว่า 80,000 คน เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ในการทำหน้าที่เผยแพร่และปรชาสัมพันธ์เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ ให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติเองและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไปได้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินและน้ำ เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ มีทั้งการป้องกันและแก้ไขการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมและต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนตลอดไป

ซึ่งการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์เพื่อทำการเกษตรอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยขาดการจัดการที่ถูกวิธี และขาดการดูแลรักษาที่เหมาะสม จะทำให้ดินเกิดความเสื่อมโทรม ขาดอินทรียวัตถุ เนื้อดินแน่นทึบ ดินมีสภาพเป็นกรดจัด และความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทำให้พืชที่ปลูกให้ผลผลิตที่ลดน้อยลง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำการปรับปรุงบำรุงดินให้มีสภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยทำการปรับปรุงดินทั้งด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ตลอดจนการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้สูงขึ้น ซึ่งแนวทางหรือวิธีการปรับปรุงบำรุงดินประกอบไปด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

1. ปรับสภาพความเป็นกรดของดินให้เหมาะ สมกับพืชที่ปลูก โดยการใช้วัสดุปูนชนิดต่าง ๆ เช่น นาข้าวใช้ปูนมาร์ล หรือหินปูนฝุ่น (หินปูนบด) ไม้ผลใช้ปูนโดโลไมท์ หรือ ปูนขาว เป็นต้น สำหรับอัตราที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของกรดในดิน โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ ในนาข้าว 0.5 – 1.5 ตัน/ไร่ แปลงปลูกผัก 1 – 2 ตัน/ไร่ ไม้ผล อัตรา 3 – 5 ก.ก./หลุมปลูก

2. ปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้อินทรียวัตถุ เช่น การไถกลบตอซังฟางข้าว ร่วมกับการรด ด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 อัตราการใช้ 5 ลิตร/ไร่ หมักทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จะช่วยให้ฟางย่อยสลายเร็วขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุ ให้แก่ดิน ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตรา 2 – 4 ตัน/ไร่ คลุกเคล้ากับแปลงปลูกผัก ไม้ดอก หรือบริเวณหลุมปลูกไม้ผล ใช้อัตราเฉลี่ย 25 – 50 ก.ก./ไร่ ปลูกพืชปุ๋ยสด

เช่น โสนอัฟริกัน ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้าและไถกลบลงดิน ในช่วงเริ่มออกดอก (ประมาณ 50 – 60 วัน หลังปลูก) ก่อนที่จะปลูกพืชหลักทุกชนิด เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุทำให้ดินร่วนซุย การถ่ายเทอากาศดี การระบายน้ำดี ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางหรือวิธีการปรับปรุงบำรุงดินนั้น ยังสามารถใช้วิธีการเพิ่มฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของพืช โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ฉีดพ่นให้ต้นพืช หรือรดราดลงดิน ช่วยให้รากพืชแข็งแรง การดูดใช้ธาตุอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พืชเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตที่สูงขึ้น หรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินโดยการใส่ปุ๋ยเคมีตามความจำเป็น ชนิดและอัตราตามคำแนะนำโดยใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการดูแลรักษาความชื้นในดิน โดยการใช้วัสดุ ต่าง ๆ คลุมดิน เช่น ฟางข้าว แกลบสด ใบหญ้าแฝก หรือพลาสติก เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน ลดการสูญเสียธาตุอาหารพืชและรักษาความชื้นในดิน หรือการใช้และปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน เมื่อฟันไถกลบลงดินให้ย่อยสลายเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชที่ปลูกด้วย ตลอดจนการจัดการดินหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้ไถกลบ หรือสับกลบ ตอซัง เป็นการปรับปรุงบำรุงดินให้สมบูรณ์เหมาะสำหรับการปลูกพืชในฤดูกาลต่อไป สำหรับพื้นที่ดินที่ลาดชัน หรือที่สูงควรทำการปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวขวางความลาดเท หรือปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวระหว่างแถวปลูกพืช ปลูกหญ้าแฝกรอบโคนต้นไม้หรือปลูกหญ้าแฝกครึ่งวงกลม ตัดใบคลุมดินบริเวณโคนต้น ใบหญ้าแฝก ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน เมื่อย่อยสลายก็จะเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน รากและลำต้นช่วยดูดซับน้ำ ปลูกเป็นกำแพงชะลอการไหลบ่าของน้ำ ลดการสูญเสียหน้าดินและธาตุอาหารพืช

ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวข้างต้น เป็นวิธีการที่ช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่เสื่อมสภาพ และสามารถปลูกพืชให้ผลผลิตสูงได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ต้องมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ทุก 1 – 2 ปี จะทำให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดิน และนำผลการตรวจวิเคราะห์ไปพิจารณา หาแนวทาง หรือวิธีการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมต่อไป รวมถึงครอบครัวเกษตรกรควรงดเผาตอซังฟาง หรือเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาโดยเด็ดขาด แนะนำให้ใช้วิธีการไถกลบตอซังข้าวหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และรดด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำ อัตรา 5 ลิตร/ไร่ หมักทิ้งไว้ ก่อนเตรียมดินปลูกพืชฤดูกาลต่อไป ดังนั้นหากเกษตรกรหรือท่านที่สนใจวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โทร. 02-579-8515

สิริบังอร เธียรชาติอนันต์/รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *