ไถกลบตอซัง ลดปัญหาหมอกควัน เพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน เกษตรนิวส์ ข่าวเกษตร
การเผาตอซังนอกจากจะทำให้ดินเสื่อมโทรมโครงสร้างดินจับกันแน่นแข็ง ส่งผลให้สูญเสียอินทรียวัตถุ และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชถูกทำลายแล้วยังทำให้เกิดควัน ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่แพร่กระจายออกไปโดยเฉพาะ 6 จังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ซึ่งอินทรียวัตถุเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคืนอินทรียวัตถุให้กับดิน โดยการไถกลบฟางข้าว ตอซังต่าง ๆ ให้ลงไปสู่พื้นดิน เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้จากการลดปริมาณการใช้ปุ๋ย
นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของดินในประเทศไทยทั้งหมด ต่ำกว่า 1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยปกติแล้วดินควรจะมีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 5% เนื่องจากอินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์มากมายมหาศาล เช่น ทำให้ดินมีโครงสร้างทางกายภาพที่ดี ดินไม่แน่นทึบ เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตในดินทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแมลง ตัวห้ำ ตัวเบียน ก็จะมาออกไข่ในดินและขยายพันธุ์ทำให้ดินมีชีวิตได้ อีกทั้งยังดูดความชื้นในดิน ทำให้ดินมีความชื้นมากกว่าดินที่ขาดอินทรียวัตถุ นี่คือประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เพราะฉะนั้นในภาพรวมเมื่อดินมีอินทรียวัตถุ ก็หมายความว่าดินต่าง ๆ เหล่านั้นมีธาตุอาหาร และมีความอุดมสมบูรณ์
ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้มีการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาตอซัง ฟางข้าวมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี พร้อมกับแนะนำวิธีการไถกลบตอซัง เช่น เมื่อดินยังมีความชื้นอยู่ ควรไถกลบ พรวนผสมคลุกเคล้ากับดิน หลังจากนั้นก็จะใช้น้ำสกัดชีวภาพ พด.2 ซึ่งจะช่วยในการย่อยสลาย เมื่ออินทรียวัตถุมีการย่อยสลายก็จะกลายเป็นฮิวมัส ปุ๋ย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในดิน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือกระบวนการของการปรับปรุงบำรุงดินให้มีสภาพที่ดีขึ้นทั้งคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี เมื่อมีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว เกษตรกรที่ปลูกพืชในพื้นที่ดินเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเป็นจำนวนมาก อาจจะใช้ในส่วนที่จะเติมส่วนที่ขาด และเมื่อสภาพอากาศในดินถ่ายเทดี การระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุในการช่วยผลิตปุ๋ยจากธรรมชาติเอง การปลดปล่อยธาตุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในดินให้กลับมาเป็นประโยชน์กับพืชได้ นั่นคือ ประโยชน์มหาศาล เกษตรกรเองสามารถที่จะลดต้นทุน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยในเรื่องของการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้ทางหนึ่ง
นายอภิชาต กล่าวว่า “จากที่กรมฯ รณรงค์ไถกลบตอซัง ฟางข้าวมาเป็นเวลานาน จะเห็นได้ว่าปัญหาทางพื้นที่การเกษตรลดน้อยลง การเผาในพื้นที่โล่งแจ้งน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรตระหนักคิดมากขึ้น โดยมองว่าคนที่เผาตอซังก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่สูบบุหรี่ สร้างมลพิษ ทำลายสุขภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม คนในสังคมส่วนใหญ่จะมองไม่ดี ดังนั้นวันนี้ปัญหาในเรื่องของควันไฟในภาคเหนือลดลงค่อนข้างมาก เมื่อ 10 ปีที่แล้วเกือบจะครอบคลุมไปทั้ง 6 จังหวัด แต่ปัจจุบันอาจมีบ้างในบางพื้นที่เท่านั้น” ต้องยอมรับว่าประโยชน์ของการงดเผาตอซังนั้นมีมากมายมหาศาล เป็นประโยชน์กับตัวเกษตรกรเอง ทั้งในแง่สุขภาพ ลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดควัน และแก้ปัญหาโลกร้อนไปพร้อม ๆ กันด้วย
ข้อมูลข่าว: Dailynews
#kasetnews #เกษตรนิวส์ #ข่าวเกษตร